คุณรู้ไหม เกษียณแล้วได้รับสิทธิอะไรบ้าง?

28 เมษายน 2568
อ่าน 4 นาที



​ประชาชนไทยวัยเก๋าที่มีสัญชาติไทยและอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ชวนคุณรู้จัก 13 สิทธิ ที่วัยเก๋าเท่านั้นได้รับ

1. สิทธิด้านการแพทย์และสาธารณสุข 
  • ​สิทธิได้รับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่จัดไว้ โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วเป็นกรณีพิเศษ โดยจัดช่องทางพิเศษและมีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอํานวยความสะดวก
2. สิทธิด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสาร 
  • สิทธิเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ  เช่น หลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และมีการเผยแพร่กิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เพื่อผู้สูงอายุ

3. สิทธิด้านการประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม 
  • สิทธิได้รับความช่วยเหลือด้าน ข้อมูล คำปรึกษา การอบรมฝึกอาชีพ การพัฒนาทักษะเพื่อประกอบอาชีพ รวมถึงการสนับสนุนอาชีพและการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

4. สิทธิด้านการพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย/ชุมชน 
  • ​สิทธิในการได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทในสังคม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน

5. สิทธิด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการสาธารณะอื่น 
  • ​สิทธิผู้สูงอายุได้รับการอำนวยความสะดวกให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งภายใน ภายนอกอาคาร และมีเจ้าหน้าที่ดูแลเมื่อใช้บริการในสถานที่ จัดที่นั่งสํารองสําหรับผูสูงอายุและบริการรถ wheelchair

6. สิทธิด้านการลดหย่อนค่าโดยสารและการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง 
  • ​ผู้สูงอายุสามารถเดินทางโดยขนส่งสาธารณะบางประเภทในอัตราพิเศษ หรือได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร เช่น รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือเรือโดยสารที่ภาครัฐกำหนด
  • ​และยังมีสิทธิได้รับบริการเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ไม่ต้องเข้าแถวรอซื้อตั๋ว มีที่นั่งสำรองเฉพาะ มีพนักงานช่วยขนสัมภาระ เป็นต้น

7. สิทธิด้านการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ 
  • ​สิทธิได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สวนสัตว์ เป็นต้น

8. สิทธิด้านการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรม หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง 
  • ​หากผู้สูงอายุถูกละเมิดหรือถูกกระทำความรุนแรง ถูกแสวงหาประโยชน์ สามารถร้องเรียน และได้รับการช่วยเหลือวงเงินครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี 
  • สิทธิได้รับคำปรึกษา ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ที่พักที่ปลอดภัย และฟื้นฟูจิตใจ

9. สิทธิด้านการให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี และในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว 
  • ​ผู้สูงอายุสามารถขอรับคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือทางกฎหมายจากหน่วยงานรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ​สิทฺธิได้รับการช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหาด้านครอบครัววงเงินครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี 

10. สิทธิด้านการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง 
  • ​รัฐจัดให้มีที่อยู่อาศัยหรือสถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือขาดแคลนที่พักอาศัย รวมถึงปรับปรุงบ้านหรือที่พักอาศัยเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
  • ​สิทธิได้รับการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบความเดือดร้อนวงเงินครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี

11. สิทธิด้านการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ 
  • ​ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ได้รับบำนาญจากภาครัฐ จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินช่วยเหลือรายเดือน เริ่มที่ 600 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ)

12. สิทธิด้านการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี 
  • ​ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ไม่มีญาติหรือผู้ดูแล จะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องงานศพตามประเพณีโดยมูลนิธิสมาคม วัด มัสยิด โบสถ โดยยื่นคำขอภายในกำหนด 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกใบมรณบัตร หากผ่านคุณสมบัติจะได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 3,000 บาท

13. การอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  • ​ผู้สูงอายุได้รับบริการตรวจสุขภาพร่างกาย ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ใช้บริการสนามกีฬา สวนสุขภาพ กิจกรรมแข่งขันกีฬา 
  • การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากสิทธิตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 วัยเก๋ายังมีสิทธิและสวัสดิการต่างๆ อีกมากมาย อาทิ
       สิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ​ยกเว้นภาษีผู้มีอายุเกิน 65 ปี ที่มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 190,000 บาท/ปี
  • ยกเว้นภาษีผู้มีเงินได้อายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีเงินฝากประจำไม่เกิน 30,000 บาท
  • สิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ได้รับยกเว้น/ลดหย่อนภาษีที่ดินในบางกรณี
  • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย) มีวงเงินช่วยค่าเดินทาง ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินช่วยค่าครองชีพ

หมายเหตุ: สิทธิและสวัสดิการบางอย่างอาจมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น ต้องมีรายได้น้อย หรืออยู่ในกลุ่มเปราะบางทางสังคม จึงควรตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือสำนักงานเขต/เทศบาลในพื้นที่ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้สูงอายุ สามารถสอบถามที่ สายด่วน พม. 1300

                "รู้จักสิทธิ ใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่! เพื่อชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและมีความสุข"